Tuesday, August 9, 2011

มะละกอภาค เจ๊ง

ขอบคุณรูปภาพจาก : http://www.learners.in.th/blog/glasses/243664

                    คราวนี้จะนำประการณ์การเจ๊ง ของเกษตรกรท่านอื่นมาบอกเล่าเก้าสิบเป็นอุทาหรณ์สอนใจ ท่านๆ ที่ทำการเกษตรแล้วอยากจะรู้ว่า ทำการเกษตรเนี่ยมันเจ๊งกันได้ยังไงกันบ้าง  
                   เริ่มแรกเลยกว่าที่จะมาเป็นสวนมะละกอเนี่ย เกษตรกรท่านหนึ่งได้เคยปลูกมะละกอพันธุ์ฮอนแลน ที่ว่ากันว่าได้ราคาดี เป็นที่ต้องการของตลาดที่ จังหวัดสระแก้ว ต่อมาย้ายย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ จ.เลย และมองเห็นว่าน่าจะปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้เนื่องจากยังไม่มีเกษตรกรท่านอื่นปลูกมาก่อน ก็เลยลงทุนลงแรงปลูกมะละกอฮอลแลน บนพื้นที่ประมาณสิบกว่าไร่ ก็เหมือนกับเกษตรกรทั่วๆ ไปนั่นแหล่ะครับ เวลาทำการเกษตร มักจะทำไปตามมีตามเกิด ไม่ได้มานั่งทำบัญชีจดว่าจ่ายอะไรไปเท่าไหร่ ไม่ได้มานั่งประมาณการว่าจะต้องทำมากทำน้อยแค่ไหนจึงจะคุ้ม ไม่ได้คิดว่าถึงเวลาจะขายยังไง ไปขายที่ไหน ถ้าส่งเองน้ำมันแพงจะทำอย่างไร เรียกว่าอาศัยดวงในการทำเกษตร ล้วนๆ
                   พอถึงเวลาที่ผลผลิตพร้อมที่จะขายได้  ปรากฏว่าในท้องที่ มะละกอยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค

- รอคนมารับซื้อ....ถ้ามีก็ลุ้นเรื่องราคา ว่าราคาจะดีไหม ถ้าดวงไม่ดีก็เจ๊ง
- ถ้าไม่มีคนมารับซื้อ ก็เอาไปส่งตลาดเอง (ที่ไหนดีอ่ะ) ส่วนใหญ่ คุ้นเคยกับคนที่ไหน ก็ไปที่นั่นแหล่ะ
   เรื่องราคาก็ลุ้นเช่นกัน ว่าจะคุ้มกับค่าน้ำมันหรือเปล่า
- อีกทางเลือกก็คือขายปลีกเองที่ตลาดนัดในพื้นที่ (ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำกัน เพราะมีจำนวนมาก ขายให้ 
  หมดได้ยาก เสียเวลา)
- นำมะละกอมาแปรรูป ในกรณีที่ราคาไม่ดี ขายไม่ออก 

เกษตรกรของเรา เลือกที่จะนำมะละกอไปส่งตลาดเอง จากจังหวัดเลยไปส่งสินค้าที่ สกลนคร  เนื่องจากรู้จักมักจี่กับคนในตลาดและเคยเป็นขาประจำกันอยู่เเล้ว พอขายได้เงินมาก็ หักลบค่าน้ำมัน ยังไม่คิดค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าแรง เหลือเงิน 500 บาท  เฮ่อ ฟังแล้วเหนื่อยไหมเล่า 

แนวทางแก้

1. เกษตรกรต้องรวมกลุ่มกันให้ได้เพื่อพัฒนารูปแบบองค์ความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์การทำสวนและสำคัญที่สุดคือ จะได้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางหรือต่อรองกับตลาดได้
2.การทำเกษตรต้องจัดสรร ปริมาณของพืชพันธุ์ และปริมาณการปลูกไม่ให้มากจนเกินไป เพื่อป้องการสินค้าล้นตลาดและทำให้ราคาตกต่ำ
3.เกษตรกรต้องเรียนรู้ที่จะลดการใช้สารเคมีให้น้อยลง หันมาใช้ปุ๋ยหมักที่ทำเองมากขึ้น หันมาทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าของผลผลิต เป็นการลดค่าใช้จ่ายกับต้นทุนการผลิตในระยะยาว และยังดีกับสุขภาพเกษตรกร ทำให้พลอยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสุขภาพอีกด้วย
4.ควรจะมีการจดบันทึก รายรับรายจ่าย เพื่อที่สามารถทำให้มองถึงการตั้งราคาขายว่าควรจะขายที่ราคาเท่าใดเกษตรกรจึงจะไม่ขาดทุน และสามารถรู้จุดที่สามารถลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้

อีกจุดหนึ่งที่อยากจะฝากถึงเกษตรกรก็คือ อย่าคาดหวังกับการช่วยเหลือของรัฐมากนัก ไม่มีอะไรครับหวังมากก็ผิดหวังมาก ..........อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน กันจะดีกว่า

ฝากถึงหน่วยงานรัฐอีกฝั่งหนึ่ง  อยากให้หน่วยงานรัฐ วิ่งเข้าหาประชาชนบ้าง และจัดการอบรมให้ความรู้ใหม่ๆ บ้าง เห็นแทบทุกปีที่ผู้ใหญ่บ้าน มาขอข้อมูล ผลผลิต ว่าใครปลูกอะไรบ้างปลูกไปเท่าไหร่ ก็ไม่รู้ว่าเอาไปทำให้เกิดประโยชน์อะไร จริงๆแล้วข้อมูลเหล่านั้นก็เป็นประโยชน์มากนะครับ อย่างน้อยๆ ก็ควรจะนำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ หาทางแก้ไขปัญหา ให้เกิดประโยชน์ต่อเกษตรกร กันหน่อย 

จบกันเลยดื้อๆ สวัสดีครับ 555