Tuesday, February 15, 2011

กระเจี๊ยบ ประโยชน์มากมายที่ไม่ใช่ลูกเจี๊ยบ


กระเจี๊ยบ เป็นพืชล้มลุกในฤดูฝน เป็นผักที่ปลูกง่าย ไม่ต้องดูแลรักษาก็เจริญเติบโตได้ ปลอดภัยจากสารพิษ ต้นสูงประมาณ 2 เมตร ดอกกระเจี๊ยบสีเหลืองสามารถใช้เป็นไม้ประดับ มีผลเป็นฝักยาวประมาณ 3-4 นิ้ว มีคุณค่าทางโภชนาการ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี ไนอะซีน มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hibiscus sabdariffa L. อยู่ในวงศ์ของ MALVACEAE ชื่อสามัญว่า Jamaica Sorrel, Red Sorrel, Roselle, Rozelle ส่วนชื่ออื่นเรียกว่า กระเจี๊ยบ กระเจี๊ยบเปรี้ยว (กลาง) ผักเก็งเค็ง ส้มเก็งเค็ง ส้มตะเลงเครง (ตาก) ส้มปู (เงี้ยว แม่ฮ่องสอน) ส้มเก็ง (เหนือ) ส้มพอเหมาะ (เหนือ) ส้มพอดี (อีสาน)

กระเจี๊ยบมีสรรพคุณแก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้คอแห้งกระหายน้ำ แก้ความดันโลหิตสูง กัดเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ บำรุงโลหิต ลดอุณหภูมิในร่างกาย แก้โรคเบาหวาน แก้เส้นเลือดตีบตัน กลีบรองดอกของกระเจี๊ยบมีสารสีแดงจำพวก anthocyanin ทำให้มีสีม่วงแดง เช่น สาร cyanidin, delphinidin และมีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น ascorbic acid, citric acid, malic acid และ tartaric acid กรดเหล่านี้ทำให้กระเจี๊ยบมีรสเปรี้ยว และยังพบมีวิตามินเอ Pectin และแร่ธาตุอื่นๆ ได้แก่ แคลเซียมในปริมาณสูงฟอสฟอรัส แมกนีเซียม เป็นต้น ใบและยอดอ่อนมีวิตามินเอ แคลเซียม และฟอสฟอรัสในปริมาณสูง ส่วนที่ใช้ประโยชน์ทางยา ราก ลำต้น ใบ ดอก กลีบเลี้ยง เมล็ด

ราก: แก้พยาธิตัวจี๊ด

ลำต้น: แก้พยาธิตัวจี๊ด

ใบ: รสเปรี้ยว ละลายเสมหะ แก้ไอ ขับเมือกมันในลำไส้ ทำให้โลหิตไหลเวียนดี ช่วยย่อยอาหาร หล่อลื่นลำไส้ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย บำรุงธาตุ ต้นชะล้างแผล หรือตำพอกฝี แก้พยาธิตัวจี๊ด

ดอก: ลดไขมันในเลือด ลดความดัน ละลายเสมหะ ขับเมือกในลำไส้ให้ลงสู่ทวารหนัก ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว แก้ไอ ทำให้สดชื่น ลดไข้ ขับน้ำดี แก้พยาธิตัวจี๊ด

กลีบเลี้ยง: แก้ความดันโลหิตสูง ลดไขมันในเลือด แก้กระหายน้ำ แก้นิ่ว รักษาแผลในกระเพาะ แก้อ่อนเพลีย บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะพิการ แก้เส้นเลือดตีบตัน แก้พยาธิตัวจี๊ด

เมล็ด: รสเมา บำรุงกำลัง บำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้ดีพิการ แก้อ่อนเพลีย เป็นยาระบาย ฆ่าพยาธิตัวจี๊ด


สรรพคุณทางยาของกระเจี๊ยบ


-กลีบเลี้ยง บดเป็นผงใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงน้ำร้อน 1 ถ้วยชา ดื่มเช้า กลางวันและเย็น รักษาโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ ช่วยย่อยอาหารประเภทไขมัน และลดไขมันในเลือด ป้องกันการจับตัวของไขมันในเลือด แก้อ่อนเพลีย บำรุงธาตุ ช่วยระบาย ลดกรดยูริกในปัสสาวะ ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเกาต์ ซึ่งต้องการขับกรดในเลือดออกมากับปัสสาวะ ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ตำราไทยใช้ใบและยอดอ่อนกับปัสสาวะ ป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟัน ตำราไทยใช้ใบและยอดอ่อนแก้ไอ มีวิตามินเอ สามารถต้านอนุมูลอิสระ


-เมล็ด ใช้เมล็ดแห้งบดละเอียดเป็นผงผสมน้ำหรือต้มน้ำดื่ม ลดไขมันในเลือด บำรุงธาตุ ขับน้ำดี ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย


-ยอดและใบ ช่วยย่อยอาหาร ขับน้ำดี แก้นิ่ว ลดไข้ ละลายเสมหะ แก้ไอ ขับปัสสาวะ หล่อลื่นลำไส้ ขับเมือกมันในลำไส้ลงสู่ทวารหนัก ใช้ตำพอกฝี หรือต้มเอาน้ำมาล้างแผล บำรุงเลือด และบำรุงธาตุ


ปัจจุบันมีการนำเอากระเจี๊ยบมาผลิตเป็นเครื่องดื่มมากมาย อาทิ ชาแดงจากกระเจี๊ยบที่มีสรรพคุณช่วยให้ระบบหายใจดีขึ้น บำรุงสายตา นมเปรี้ยวกระเจี๊ยบแดง นอกจากจะได้ประโยชน์จากนมแล้ว สีแดงที่ได้จากดอกและกลีบเลี้ยงจะมีสารแอนโธไซยานินและกรดธรรมชาติที่ชื่อซิตริก เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะช่วยย่อยอาหารประเภทไขมันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถนำกระเจี๊ยบมาหมักทำไวน์แดง และหากนำไวน์แดงใช้ร่วมกับนมสดชโลมผิวกาย ใบหน้า จะทำให้ผิวพรรณสดใส ลบรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและหางตา นอกจากนี้ ไวน์แดงยังเหมาะสำหรับทำเป็นน้ำยาที่ช่วยขจัดจุดด่างดำและฝ้าบนใบหน้าได้ดีมาก เพราะมีสารเมือกและกรดธรรมชาติที่สามารถลอกและชำระล้างเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วให้หลุดล่อนออก ใช้ประจำทั้งเช้าและเย็นผิวหน้าจะดูนุ่มนวล สดใส


หากเราจะยกให้กระเจี๊ยบเป็นสมุนไพรชั้นหนึ่งของคนไทยก็คงไม่ผิดนัก เพราะสามารถนำกระเจี๊ยบมาประกอบเป็นอาหาร ให้ทั้งความอร่อยและยังสามารถบำบัดโรคได้ หากจะนำมาดัดแปลงเป็นน้ำดื่มดับกระหายคลายร้อน หรือชาสมุนไพร ที่นอกจากมีรสชาติอร่อยชื่นใจแล้วยังกำนัลด้วยประโยชน์ต่อสุขภาพของเราอีกด้วย


และที่สำคัญกระเจี๊ยบนั้นสามารถช่วยขับปัสสาวะและช่วยป้องกันนิ่วรวมทั้งโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบอื่นๆ ได้อีกด้วย เนื่องจากปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรด ช่วยป้องกันไม่ให้หินปูนจับตัวเป็นก้อนและยังทำให้ก้อนนิ่วขนาดเล็กๆ หลุดออกมาได้ โดยใช้กลีบเลี้ยง หรือกลีบรองดอกสีม่วงแดง ตากแห้งและบดเป็นผง ใช้ครั้งละ 1 ช้อนชา ชงกับน้ำเดือด 1 ถ้วย (250 ซีซี) ดื่มเฉพาะน้ำสีแดงใส วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกันทุกวันจนกว่าอาการขัดเบา และอาการอื่นๆ จะหายไป